เพ็ชรชุมพวงคอมพิวเตอร์

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

หลายหัวดีกว่าหัวเดียว แก้ปัญหายากๆ ด้วย Crowdsourcing

ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยได้ยินคำโบราณว่า ไว้ว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” ใช่ไหมครับ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงไอเดียหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันและตรง กับคำโบราณคำนี้เลยทีเดียว นั่นก็คือไอเดียที่เรียกว่า Crowdsourcing นั่นเองครับ

Crowdsourcing คืออะไร?

หากแปลกันตรงตัว คำว่า crowdsourcing นั้นเกิดมาจากการผสมกันระหว่างคำสองคำก็คือ crowd + sourcing โดยคำว่า crowd แปลว่า กลุ่มชน มวลชนจำนวนมาก และ sourcing แปลว่า แหล่งที่มา และเมื่อเอามารวมกันแล้วก็หมายความว่า เป็นการทำงานที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนจำนวนมาก นั่นเอง ซึ่งมักจะเกิดจากการที่เรามีไอเดียหรือปัญหาที่ยากจะทำสำเร็จได้ด้วยตัวคน เดียว โดยอาจจะขาดเงินทุนสนับสนุน หรือแรงงานที่จะช่วยในการทำให้สำเร็จ เราก็สามารถแบ่งงานเหล่านั้นออกเป็นชิ้นเล็กๆ และกระจายให้กลุ่มคนหลายๆ คนทำพร้อมๆ กัน ให้เขาแก้ปัญหาเล็กๆ ให้เรา เมื่อทุกคนต่างทำงานเล็กๆ ของตนสำเร็จแล้ว ก็หมายถึงว่างานชิ้นใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากงานชิ้นเล็กๆ เหล่านั้นก็จะประสบความสำเร็จไปด้วยนั่นเอง

Crowdsourcing มีประโยชน์อย่างไร?

เราสามารถใช้ crowdsourcing เพื่อแก้ไขปัญหาได้หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
1. ใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการ ในกรณีนี้มักเกิดจากการขาดแคลนเงินทุนของบริษัทผู้ผลิตที่มีไอเดียดีๆ ซึ่งการทำ crowdsourcing ในรูปแบบนี้มีคำเรียกเฉพาะว่า “crowdfunding” ครับ ตัวอย่างของ crowdfunding ได้แก่เว็บไซต์ที่ชื่อว่า kickstarter.com ที่เป็นศูนย์กลางให้ผู้มีไอเดียมาทำการ “ขาย” ไอเดียของตน โดยผู้ที่สนใจจะเข้ามาบริจาคเงินในจำนวนไม่มาก โดยอาจจะเป็นการซื้อสินค้าจากไอเดียที่นำมาเสนอล่วงหน้าในราคาที่ถูกกว่า ปกติ หรือบริจาคเพื่อต้องการสนับสนุนเฉยๆ ก็ยังได้ มีสินค้ามากมายหลายชิ้นที่ประสบความสำเร็จจากการทำ crowdfunding โดยที่สามารถระดมทุนได้มากยิ่งกว่าเป้าที่ตั้งไว้และสามารถผลิตสินค้าออกมา ขายได้จริง เช่น นาฬิกา Smartwatch ยี่ห้อแรกๆ ของโลกที่ชื่อ Pebble ก็กำเนิดมาจากการทำ crowdfunding ของ kickstarter.com นั่นเอง
Crowdsourcing
2. ใช้ในการแข่งขันเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น นาซ่าได้จัดตั้งโครงการชื่อ NASA’s Asteroid Grand Challenge ที่ มีเป้าหมายเพื่อค้นหาระบบที่ดีที่สุดที่จะนำไปใช้ในการตรวจหาดาวหางให้พบ ก่อนที่จะพุ่งเข้าชนโลก ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่มีดาวหางพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในบริเวณประเทศรัสเซียและทำให้เกิด การตื่นตระหนกของผู้คน รวมถึงมีความเสียหายเกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยและผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้ เคียง โดยนาซ่าได้จัดตั้งการแข่งขันสำหรับโปรแกรมเมอร์ทั่วโลก ให้สร้างระบบและหลักการคำนวณ (algorithm) ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการตรวจหาดาวหางจากภาพถ่ายดวงดาวที่นาซ่าจัดหาไว้ ให้ โดยในปัจจุบันโครงการดำเนินไปจนเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผ่านทางระบบ crowdsourcing สำหรับการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ชื่อว่า topcoder.com หรือเช่นในปี 2552 บริษัทให้บริการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ชื่อ NetFlix ก็จัดการแข่งขันเพื่อให้โปรแกรมเมอร์สร้างระบบแนะนำภาพยนตร์ที่มี ประสิทธิภาพสูงกว่าระบบเดิมที่บริษัทใช้อยู่มากที่สุด โดยให้เงินรางวัลสูงถึงหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
Crowdsourcing
3. ใช้ในการโหวตเพื่อเลือกสินค้า นั่นก็คือการรวบรวมความเห็นจากคนจำนวนมากถึงสินค้าหรือบริการที่ต้องการจะนำ ออกสู่ตลาด เพื่อดูว่ากระแสตอบรับเป็นอย่างไร และสินค้าชิ้นไหนที่ได้รับความนิยมหรือชื่นชอบมากที่สุด จริงๆ สิ่งนี้อาจจะนับรวมการโหวตในรายการแข่งขันเช่น The Star หรือ The Voice ได้ด้วยเช่นกัน
4. ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล เช่น การขอข้อมูลภาษาท้องถิ่นที่หาได้ยากเพื่อทำเป็นพจนานุกรม หรือการเพิ่มคำศัพท์หรือรูปแบบการใช้คำแบบใหม่ๆ จากคนหลากหลายทั่วโลก
ซึ่งนอกเหนือจากตัวอย่างที่ผมยกมาเล่าให้ เพื่อนๆ ฟังแล้ว ก็ยังมีรูปแบบการทำ crowdsourcing อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายหลายรูปแบบเลยหล่ะครับ

ปัญหาของ crowdsourcing มีหรือไม่?

การทำ crowdsourcing นั้นก็มีปัญหาเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น ในงานที่ต้องการคุณภาพสูง เช่นการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อเก็บข้อมูลที่สำคัญหรือเกี่ยวกับความปลอดภัยนั้น หากไม่มีการตรวจสอบระบบให้ดี อาจเป็นไปได้ที่จะมีโปรแกรมเมอร์บางคนในระบบ crowdsourcing ที่ทำงานอย่างไม่มีคุณภาพ ทำให้ผลลัพธ์ของโปรแกรมโดยรวมมีมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือโปรแกรมเมอร์ที่ไม่หวังดีบางคนแอบใส่ไวรัสหรือส่วนของโปรแกรมที่เป็น อันตรายเข้ามา เพื่อต้องการดักเก็บข้อมูล เป็นต้นฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในการทำงานในกรณีที่เป็นการจ้างงาน เพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง และได้มีการร้องเรียนเกิดขึ้นแล้วจากผู้ที่ทำงานในระบบ crowdsourcing ของ amazon.com ที่ชื่อว่า Amazon Mechanical Turk ครับ เรื่องเหล่านี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันและคงต้องหา ทางออกที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
เห็นไหมครับว่ายังไงคำกล่าวที่ว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” ก็ยังคงใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าอาจจะเปลี่ยนวิธีการและสภาพแวดล้อมไปสักหน่อยเท่านั้นเอง

อ้างอิง:
1.http://en.wikipedia.org/wiki/Crowdsourcing
2.http://www.topcoder.com/asteroids/
3.http://www.topcoder.com/asteroids/asteroiddatahunter/
4.http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-21468116
5.https://www.kickstarter.com/projects/597507018/pebble-time-awesome-smartwatch-no-compromises?ref=nav_search
6.http://www.netflixprize.com
7.http://www.theguardian.com/technology/2014/dec/03/amazon-mechanical-turk-workers-protest-jeff-bezos

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น